เมื่อพูดถึงการนำไข่แดงผสมน้ำตาลทรายและทำเป็นเส้นในน้ำเชื่อม รับประทานเป็นของหวาน ชาวไทยย่อมรู้จักกันดีในนาม ‘ฝอยทอง’ แต่ใครจะรู้บ้างว่าฝอยทองไม่ได้มีต้นกำเนิดในไทย แต่มีต้นกำเนิดมาจากยุโรป ว่าแต่ดั้งเดิมฝอยทองเป็นอาหารของชาติไหนและเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร วันนี้เรามาเปิดประวัติฝอยทองกัน
ฝอยทองอาหารของโปรตุเกส
ต้นกำเนิดที่แท้จริงของฝอยทองอยู่ที่เมืองอาไวรู ประเทศโปรตุเกส คนโปรตุเกสรับประทานฝอยทองกับขนมปังและอาหารหลัก เช่น เนื้อสัตว์ โดยคนโปรตุเกสเรียกฝอยทองว่าไข่ปั่นเส้น หรือ Fios de Ovos ซึ่งมีรสชาติหวานน้อยกว่าฝอยทองบ้านเรามาก แต่ในปัจจุบันคนโปรตุเกสเองก็ปรับให้ Fois de Ovos มีรสชาติหวานมากขึ้นและรับประทานเป็นของหวานเช่นกัน
ฝอยทองเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร
ฝอยทองเข้ามาในประเทศไทยในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้ที่นำฝอยทองเข้ามาในประเทศไทยคือ มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Marie Guimar de Pinha) หรือที่คนไทยรู้จักในนามของเท้าทองกีบม้า ภรรยาเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ท้าวทองกีบม้าเป็นนางต้นเครื่องหวานที่คนไทยในยุคนั้นเรียกว่า ‘วิเสทกลาง’ ซึ่งกรมวิเสทกลางมีท้าวนาง 3 คนเป็นหัวหน้า คือ ท้าวเทพภักดี ท้าวทองพยศ และ ท้าวทองกีบม้า
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในกรมวิเสทกลางไม่ได้มีแต่ท้าวทองกีบม้าเท่านั้นที่เป็นมีเชื้อสายโปรตุเกส ทว่าท้าวทองพยศก็เป็นหญิงโปรตุเกส นอกจากนี้ยังมีลูกมือหญิงโปรตุเกสอีกมากมายหลายคนในกรม
ขนมไทยเชื้อสายโปรตุเกสเหล่านี้ถูกปากคนในราชสำนักไทยและถือเป็นของดีจนต้องนำไปถวายในพิธีกรรมต่างๆ ตามจดหมายเหตุของบาทหลวงฝรั่งเศสที่บันทึกไว้มีใจความว่า เมื่อราชสำนักมีงานพิธีล้างศีรษะช้างและงานไหว้พระพุทธบาท พระเจ้ากรุงสยามมีรับสั่งให้เกณฑ์หญิงโปรตุเกสจำนวนมากไปทำเครื่องหวาน แม้หญิงเหล่านั้นจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของพิธี แต่ก็ไม่ขัดรับสั่ง
ขนมไทยอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกส
ขนมทองหยิบ ทองหยอด ทองม้วน และทองโปร่ง ก็มีที่มาจากโปรตุเกสเช่นเดียวกัน นอกจากนี้นักวิชาการยังเชื่ออีกว่าขนมที่ใช้แป้งถั่วเหลือง แป้งมัน และไข่แดง เช่น ขนมชะมด ขนมกง ขนมเกวียน ขนมกรุบ และขนมสามเกลอ ล้วนได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสทั้งสิ้น
ประเทศไทยมีทั้งขนมจีนที่ไม่เคยพบเห็นในจีน ข้าวผัดอเมริกันที่คนอเมริกันไม่รู้จัก แต่ทำไม ทีฝอยทองและขนมอีกมากมายมาจากโปรตุเกสชัดๆ กลับไม่ยอมเรียกว่า ‘ขนมโปรตุเกส’ แปลกชะมัด!